นิทานชีวิต

มีครอบครัวหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านชนบทค่อนข้างห่างความเจริญ สองสามีภรรยาหัวหน้าครอบครัวมีอาชีพในทางทำไร่ พอมีพอกินไปวันๆ แบบ “ทำมาหากิน” คือทำมาได้หากินหมดจริงๆ ไม่พอที่จะเหลือเก็บ             นอกจากพอประทังชีพสองคนและลูกชายเล็กๆ อีกคนหนึ่งเท่านั้น เมื่อลูกโตพอที่จะเรียนหนังสือได้แล้ว ก็พาไปฝากเข้าโรงเรียนที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ด้วยในหมู่บ้านของตัวยังไม่มีโรงเรียน ตอนเช้ามืดแม่ต้องลุกหุงหาอาหารแล้วจัดเตรียมใส่หม้อดินเล็กๆ เพื่อเป็นอาหารมื้อกลางวันสำหรับลูกที่โรงเรียน แล้วก็พาลูกหอบหิ้วหนังสือและอาหารมื้อนั้นไปส่งที่โรงเรียนแล้วกลับมาช่วยพ่อทำงานไร่ต่อ ตกเย็นพ่อมีหน้าที่ไปรับลูกกลับจากโรงเรียน
     ทั้งสองทำอยู่เช่นนี้ จนกระทั่งลูกเรียนจบชั้นประถมปีที่สี่อันเป็นชั้นสูงของโรงเรียนจะให้ลูกเรียนต่อในเมืองก็ไม่มีปัญญาจะส่งเสีย ทั้งลูกก็ไม่อยากจะเรียนต่อด้วย
       พอออกจากโรงเรียนแล้วก็มาอยู่ช่วยพ่อแม่ทำงานไร่บ้างตามกำลังจนเติบโต ความที่พ่อแม่ตามใจและรักมาตั้งแต่เล็กๆ เขาจึงค่อนข้างเกียจคร้าน ชอบเที่ยวเตร่ คบเพื่อนต่างหมู่บ้านไม่เลือกหน้า ถึงกระนั้นพ่อแม่ก็ไม่กล้าต่อว่า เพราะตัวเองยังมีกำลังทำงานได้ ต่อมาพ่อเป็นโรคลำไส้รักษาด้วยยากลางบ้านตามมีตามเกิด แต่ก็ไม่หาย หนักเข้าก็ต้องสิ้นพ่อไปคนหนึ่ง ฝ่ายแม่ก็อดทนหาเลี้ยงลูกมาจนกระทั่งลูกไปมีครอบครัวอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างกันพอสมควร โดยอาศัยรูปร่างดีเป็นเครื่องประกอบ จึงได้ภรรยาที่พอมีอันจะกิน ซ้ำยังเป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เขาจึงอยู่ดีกินดีขึ้นกว่าเก่า เมื่อสบายเสียแล้วเขาจึงลืมคนอีกคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่เดิมคือแม่ของเขานั่นเอง เขาไม่เคยไปหาแม่หรือส่งข่าวไปให้แม่ทราบเลยนับจากเดือนเป็นปี
เข้าตำรา “หลงเมียลืมแม่” ก็คงจะได้อยู่
ฝ่ายแม่เมื่อลูกชายไปมีภรรยาแล้วหายเงียบไปไม่มาหาเลย ทนคิดถึงลูกไม่ไหวก็ไปหาลูกชาย เขาต้อนรับแม่ดีในตอนแรกๆ แต่พอบ่อยเข้าก็เกิดความรำคาญแม่ที่มาให้เห็นหน้าบ่อยๆ ต่อมาแม่เกิดป่วยขึ้นทำงานก็ไม่ได้ เงินที่พอมีเก็บเล็กๆ น้อยๆ ก็เอามาซื้อยารักษาโรค เงินหมดโรคก็ยังไม่หาย จำต้องหอบสังขารไปหาลูกชาย หวังมาฝากผีฝากไข้กับลูก แต่พอเห็นหน้าแม่เท่านั้นเจ้าลูกชายแทนที่จะดีใจ กลับพูดเป็นทำนองให้รู้ว่าตนเองไม่อยากจะให้แม่อยู่ด้วย แม่ก็เลยพูดไม่ออกบอกว่าจะมาอยู่ด้วยไม่ได้ ได้แต่มองตาลูก ลูกก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย แม่ก็คิดว่าไหนๆ บากหน้ามาแล้วเมื่อลูกมันไม่รักษา ไม่เลี้ยงก็ไม่เป็นไร ขอไปรักษาที่อื่น แต่เงินไม่มีนี่สิจะขอลูกก็คงไม่ให้ ตัดใจขอยืมลูกไปก่อน วันหลังหายแล้วคงหามาใช้ได้ ฝ่ายลูกก็โยกโย้ ว่าเงินจำนวนนี้เป็นของเมีย ยืมแล้วต้องทำสัญญา เดี๋ยวเมียจะว่าเอาได้ แม่ก็ต้องยอมกล้ำกลืนทำสัญญากันไว้
      เมื่อได้เงินแล้วก็เข้าเมืองรักษา แต่โรคคนแก่ผสมกับโรคทางกายที่ทรุดโทรมเพราะกรำงานหนัก และโรคทางใจที่ลูกไม่แยแส จึงทรุดโทรมลง เงินทองที่มีอยู่ก็หมดไปจำต้องกลับบ้านอาศัยเพื่อนบ้านช่วยดูแลบ้าง ให้ข้าวให้น้ำพอประทังไปได้วันๆ หนักเข้าๆ แทนที่จะตาย โรคกลับทุเลาพอไปไหนมาไหนได้และพอมีกำลังทำงานไปเก็บพืชผลในไร่มาขายได้ เรียกว่าโรคเวรโรคกรรมมันยังไม่หมด ว่างั้นแหละ
         ต่อมาเงินเกิดขาดมืออีก เพราะพืชผลในไร่เสียหายจำต้องเอาที่ดินผืนเล็กๆ นั้นไปขายฝากไว้กับเพื่อนบ้าน เอาเงินมาเลี้ยงตัว และก็กินทุนนั้นเรื่อยไป ฝ่ายเจ้าลูกชายพอทราบว่าแม่ขายที่คงจะมีเงินใช้หนี้ได้บ้าง จึงมาทวงแม่ แม่ก็บอกว่า ตอนนี้เงินพอมี แต่ต้องการเก็บไว้ซื้อข้าวกินบ้าง เมื่อไม่ได้ลูกชายก็กลับไป วันหลังมาทวงอีก แม่ก็เลยบอกว่าไม่มีส่งไปเลย เจ้าลูกชายก็บอกว่าแม่อย่าโกงก็แล้วกัน ถ้าโกงเมื่อไหร่จะฟ้องร้อง เมื่อได้ยินลูกว่าเช่นนั้น ความอดกลั้นที่มีอยู่มันไม่รู้หายไปไหนหมด แม่ก็บอกลูกไปว่า
“ข้าไม่มีเงินแล้วตอนนี้ และข้าก็จะไม่ใช้เอ็งด้วย เอ็งจะไปฟ้องร้องหรือเอาข้าไปตัดหัวคั่วแห้งที่ไหนก็ตามใจเถอะ”
อนิจจา! ลูกผู้ถูกแม่พูดด้วยน้ำตานองหน้าอย่างนี้แทนที่จะรู้สึกหรือเลิกแล้วกันไป กลับไปหากำนันแล้วเล่าเรื่องราวให้ฟัง พร้อมทั้งกำชับกำนันให้จัดการเอาเงินคืนให้ด้วย
“ลูกจัญไรพรรค์นี้ก็มีด้วย”
กำนันคิด เพราะเป็นคนยุติธรรม และเป็นคนตรง เลยบอกว่า
“เอาละ เงินจำนวนนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยทั้งหมด ข้าจะให้เอ็งแทนแม่เอ็งทั้งหมด แต่มีข้อแม้อย่างหนึ่ง”
เมื่อเขาได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจขึ้นอักโข เงินคงได้คืนมาแน่ จึงรีบรับปากกำนันว่าจะทำตามข้อแม้ทุกอย่าง
“ข้อแม้ของข้า คือ นับจากวันนี้เป็นต้นไปให้เอ็งมาหาข้าทุกเช้าเป็นเวลาหนึ่งเดือน ข้าจะทำถุงเล็กๆ ใบหนึ่งให้เอ็งผูกไว้ที่เอวข้างหน้า และถุงนี้เอ็งต้องผูกไว้เป็นประจำตลอดเดือน ห้ามเอาออกเด็ดขาดทั้งเวลากิน เวลาเดิน เวลานั่งนอน หรือแม้จะอาบน้ำ เข้าส้วมอะไรก็แล้วแต่ เวลาเอ็งมาหาข้า ข้าจะใส่ก้อนหินขนาดเท่าลูกพุทราไว้ในถุง วันละก้อนๆ เพื่อดูว่าเอ็งมาหาข้าได้กี่วันแล้ว และก้อนหินนี่ห้ามเอาออกจากถุงทุกเวลา
เหมือนกัน ห้ามตบตาข้าด้วย ถ้าข้ารู้เข้า ข้าจะไม่ยอมให้เงินเอ็งเลยสักบาทเดียว เพราะถือว่าเอ็งผิดสัญญา แค่นี้เอ็งทำได้ไหม”
“เรื่องเล็ก!” เขาคิด แค่นี้ทำไมจะไม่ได้ ระยะทางมาที่นี่กิโลกว่าๆ เท่านั้น มาหากำนันเท่ากับเดินออกกำลังตอนเช้าไปในตัว เพื่อแลกกับเงินที่แม่ยืมกลับคืนมาทั้งต้นทั้งดอกที่กำนันจะให้ตั้งสองพันกว่า พอคุ้มกันแล้ว ดีกว่าไปทำงานรับจ้างเขาเสียด้วยซ้ำ” คิดเช่นนี้จึงตกปากรับคำทันที
คนเห็นแก่เงินย่อมเห็นเงินสำคัญกว่าอะไรทั้งหมดเรื่องอื่นๆ ค่อยว่ากันทีหลัง
        รุ่งขึ้นอีกวัน เขามาหากำนันแต่เช้า กำนันก็มอบถุงให้หนึ่งใบผูกสะเอวเขาไว้ แล้วเอาก้อนหินใส่ไว้ในถุงเป็นประเดิมหนึ่งก้อน โดยไม่ต้องหาพระมาชะยันโตเอาฤกษ์ให้เสียเวลา เขาก็กลับไปบ้านเล่าให้ภรรยาฟัง ภรรยาก็ไม่ว่ากระไร เขาทำเช่นนี้ได้ประมาณหกเจ็ดวัน ความอึดอัดเริ่มจู่โจมเข้ามาทีละน้อยๆ ตอนแรกก็ไม่รู้สึก ต่อมาเมื่อก้อนหินมีหลายก้อนเข้าเวลาเดินไปไหนมาไหน แม้จะเอาชายเสื้อคลุมถุงไว้แล้วมันก็ยังนูนออกมา แถมหินกระทบกันดังกรุ๊กกริ๊กๆ ตลอดเวลา รำคาญหู เวลานอนก็ต้องนอนตะแคง จะนอนหงายก็ไม่ถนัด ถุงหินมันทับอยู่บนท้อง นอนคว่ำก็ไม่ได้ ที่ลำบากที่สุดก็คือ เวลาเข้าส้วมดูมันทุลักทุเลชอบกล แต่ความอยากได้เงินคืนจำต้องทนเอา ไหนๆ ก็ทนมาได้ตั้งอาทิตย์แล้ว ทนเอาอีกหน่อยเถอะน่า เขาปลอบใจตัวเอง
สิบวันผ่านไป ความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นตามลำดับ ความอดกลั้นต่อความรำคาญชักหมดไปทุกขณะ
สิบห้าวันยังไม่ทันพ้น ความอดทนก็ถึงขีดสุด!
เขารีบจ้ำไปหากำนันในตอนเย็นวันนั้นเลย กำนันเห็นเข้าก็รู้ทีเดียว แต่ก็แกล้งถาม
“อ้าว! มาทำไมอีก ก็เมื่อเช้ามาทีแล้วนี่นา”
“เอ้อ ผมมาคืนถุงกำนันครับ” เขากล่าวอ่อยๆ
“เอ...มันยังไม่ครบเดือนนี่นา นี่เพิ่งได้สิบห้าวันเท่านั้น ยังไม่หมดสัญญานี่ คืนได้เรอะ”
“ผมทนไม่ไหวแล้วครับ ต้องคืนแน่”
“เอา! คืนก็คืน แต่เงินข้าไม่จ่ายให้นะบอกกันก่อน เพราะเอ็งผิดสัญญา”
“ครับ เงินผมไม่อยากได้แล้ว มันรำคาญเต็มทีเวลากินเวลานอนมันทรมานเหลือเกิน ยิ่งเวลาเข้าส้วมด้วยแล้วอย่าบอกใครเลยกำนัน” ว่าแล้วก็รีบแก้ถุงออกจากเอวส่งให้กำนัน
“แหม...เอาออกเสียได้ ผมโล่งอกโล่งใจขึ้นอีกเยอะเชียว” เขาบ่นเบาๆ
กำนันได้ยินเขาพูดเช่นนั้นก็นึกว่า ได้การละคราวนี้ ได้ทีแล้วขี่ม้าไล่เสียเลย จะได้เร็วดี ขี่แพะมันช้าไป
“เฮ้ย! นั่งลงก่อนซี ดื่มน้ำดื่มท่าให้สบายเสียก่อนแล้วฟังข้า ข้าจะพูดให้เอ็งฟัง คืองี้นะ เอ็งผูกถุงหินไว้ที่หน้าท้องแค่สิบห้าวันเท่านั้น เอ็งบ่นว่าทรมานรำคาญเหลือเกิน แล้วอยากจะเอาออกเสีย ตอนเอ็งอยู่ในท้องแม่เอ็งนะเอ็งโตทุกวันๆ แม่เอ็งก็อุ้มเอ็งอยู่ได้ตั้งเก้าเดือนสิบเดือน ทำไมแกไม่เห็นจะบ่นทุกข์ทรมานหรือรำคาญเลย ไม่ว่าแม่เอ็งจะไปไหน จะทำอะไรเอ็งจะต้องติดท้องแม่เอ็งไปด้วยตลอดเวลา ตอนนั้นน่ะเอ็งลองคิดดูทีหรือว่าแม่เอ็งจะรำคาญ หรือทุกข์ทรมานแค่ไหน ตั้งสิบเดือนเชียวนะ”
กำนันหยุดนิ่งมองดูเขานิดหนึ่ง เมื่อเขาไม่พูดอะไร กำนันก็พูดต่อ
“แม่เอ็งลำบากลำบนเพราะเอ็งไม่รู้เท่าไหร่ เอ็งเคยคิดบ้างไหม ในท้องสิบเดือนน่ะมันน้อยไปด้วยซ้ำ กว่าจะเลี้ยงเอ็งโตมานี่แม่เอ็งต้องเสียข้าวเสียน้ำไปเท่าไหร่ กว่าเอ็งจะอ่านออกเขียนได้ เป็นผู้เป็นคนมากับเขาได้นี่ แม่เอ็งต้องเทียวรับเทียวส่งเอ็งไปโรงเรียนกี่ปี เสียแรงเสียเงินไปเท่าไร เอ็งคิดดูเอาเอง ข้ารู้มา แม่เอ็งน่ะลำบากมากเพราะเอ็งคนเดียว แค่แกยืมเงินเอ็งมาแค่สองพันบาทเท่านั้น เอ็งจะเอาเป็นเอาตายกับแกทีเดียว เงินแค่นี้น่ะมันไม่คุ้มกับค่าเลี้ยงดูเอ็งมาปีเดียวเสียด้วยซ้ำ ถ้าแม่เอ็งแกเรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากเอ็งนะเอ็งเอ๋ยชีวิตนี้ทั้งชีวิตก็ทำใช้แกไม่หมดหรอก แต่แกก็ไม่เคยเรียกร้องเอาจากเอ็งเลยสักแดงเดียว แม้อยากจะได้ก็ขอยืมเอาแล้วเอ็งจะเอาไงกะแกอีกเล่า ถ้ายังอยากจะได้เงินจากแม่เอ็งอีกก็อย่าไปเอากะแกเลย แกแก่แล้ว ข้าจะใช้ให้เอ็งเอาไหม”
เขายังนิ่งเหมือนเดิม กำนันก็เลยลำนำคำกลอนให้เขาฟังเรื่อยๆ
“รักใดเล่า รักแน่ เท่าแม่รัก
ผูกสมัคร ลูกมั่น มิหวั่นไหว
ห่วงใดเล่า เท่าห่วง ดังดวงใจ
ที่แม่ให้ กับลูก อยู่ทุกครา
ยามลูกขื่น แม่ขม ตรมหลายเท่า
ยามลูกเศร้า แม่โศก วิโยคกว่า
ยามลูกหาย แม่ห่วง คอยดวงตา
ยามลูกมา แม่หมด ลดห่วงใย”
กำนันว่าอย่างไรเขาไม่รู้อีกแล้ว และเขาก็ไม่รู้ว่าก่อนลงจากบ้านกำนันนั้นเขาได้ลา หรือไหว้กำนันบ้างหรือเปล่า มารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อตัวเองได้โผเข้าอยู่ในอ้อมอกของแม่เสียแล้ว

ขอบคุณที่มาจาก
แม่...ผู้หญิงคนสำคัญที่สุดในชีวิต (วิริยะ 1130)
http://www.rvpprinting.com/products/view.php?id=57

รูปภาพ
Top