นั่งสมาธิ การกำหนดเวทนา จิต และธรรม

เดินจงกรมแล้วต้องนั่งสมาธิติดต่อกัน
เหมือนด้ายกลุ่มออกจากลูกล้อ อย่าให้ขาดสาย

เดินจงกรมแล้ว มานั่งที่จัดสถานที่เข้าไว้ จะตรงไหนก็ตามแล้วเรามานั่ง ยืนหนอ ๕ ครั้ง แล้วนั่งย่อตัวลงไปว่า นั่งหนอ ๆ ต้องปฏิบัติให้ติดต่อ เหมือนด้ายกลุ่มออกจากลูกล้อ อย่าให้ขาดสาย ต้องปฏิบัติโดยต่อเนื่อง กำหนดได้ทุกระยะ อย่าไปขาดตอน ไม่ใช่เดินจงกรมเสร็จแล้วไปทำงานอื่นแล้วกลับมา นั่งทีหลัง ผู้ปฏิบัติจะไม่ได้ผล
จะไม่ได้ผลเลย ถ้าเรานั่งติดต่อกันโดย ๗ วัน ท่านได้ผลแน่ภายใน ๗ วัน ได้แน่นอน เป็นการสะสมหน่วยกิตไว้ ในวันที่ ๗ ท่านจะรู้เรื่องในญาณวิสุทธิ มีสติได้ดีกว่าเดิมที่ผ่านแล้ว มันจะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอน ของระยะของเขานั่นเอง เพราะทำติดต่อกัน

นั่งสมาธิ จะนั่งสองชั้น ชั้นเดียว หรือ ขัดสมาธิเพชรก็ได้

เดินจงกรมเสร็จแล้ว ควรนั่งสมาธิ ท่านอย่าไปทำงานอื่น ๆ ทำให้ติดต่อกันเหมือนเส้นด้ายออกจากลูกล้ออย่าให้ขาด ทำให้ติดต่อไป นั่งสมาธิ จะขัดสมาธิสองชั้นก็ได้ ชั้นเดียวก็ได้ หรือขัดสมาธิเพชรก็ได้ แล้วแต่ถนัด ไม่ได้บังคับแต่ประการใด มือขวาทับมือซ้าย หายใจเข้ายาว ๆ

พองหนอยุบหนอ หายใจยาว ๆ ให้สังเกตที่ท้อง

ก่อนกำหนดพองยุบ หายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ แล้ว สังเกตท้อง หายใจเข้า ท้องจะพองไหม หายใจออก ท้องจะยุบไหม ไม่เห็นเอามือจับดู เอามือวางที่สะดือแล้วหายใจยาว ๆ ท้องพอง เราก็บอกว่า พองหนอ ... ท้องยุบ ก็บอกว่า ยุบหนอ... ให้ได้จังหวะ...
หายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พองหนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อน หรือ หลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบหนอ ใจนึกกับท้องยุบ ต้องทันกัน อย่าให้ก่อน หรือ หลังกัน ให้สติจับอยู่ที่พองยุบเท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาทางหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงไปข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป
กำหนด พองเป็นยุบ ยุบเป็นพอง แก้อย่างไร
ถ้าหากว่ากำหนด พองเป็นยุบ ยุบเป็นพอง พอง...ยังไม่หนอ ยุบ...ลงไปยังไม่หนอ พองออกมาอีกแล้ว อย่างนี้ไม่มีสมาธิ ยังรวมสติไม่ติด แต่ต้องหัดฝึก พองหนอ ยุบหนอ ให้ได้จังหวะเสียก่อน การฝึกพองหนอ เอามือคลำดูที่ท้อง หายใจให้ยาว ๆ ฝืนก่อน ทีแรก เราหายใจไม่ถูกระบบของมัน หายใจตามอารมณ์ที่เคยหายใจตั้งแต่เป็นเด็ก เราต้องฝืน หายใจให้ยาว ๆ เดี๋ยวมันจะคล่องแคล่วทีเดียว พอคล่องแคล่วได้ปัจจุบันแล้วสบายมาก

พองหนอยุบหนอแล้ว อึดอัด
กำหนดพอง...ไม่ทันหนอ...ยุบแล้ว

ใหม่ ๆ อึดอัดมาก เพราะเราไม่เคย ต้องทำให้ได้ไม่ใช่พองหนอ...ยุบหนอ...แต่ปากนะ จิตใจทำไม่ได้ มันอยู่ที่จุดนี้ต้องทำให้ได้ ...เราหายใจเข้ายาว ๆ ที่ท้องพอง กำหนดพองไม่ทันหนอ ยุบแล้ว ไม่ทันหนอ พองขึ้นไปอีกแล้ว
วิธีปฏิบัติทำอย่างไร วิธีแก้พองคนละครึ่งสิ พอง...แล้วหนอ...เสียครึ่งหนึ่ง ลองดูสำหรับเราทุกคน ถ้าพองครึ่งไม่ได้ หนอครึ่งไม่ได้ เอาใหม่ เปลี่ยนใหม่ได้ เปลี่ยนอย่าง ไร...แบ่งเป็น ๔ ส่วน พอง ๑ ส่วน หนอ ๓ ส่วน ได้แน่ หายใจให้ยาวไว้ พอง...หนอ... ถ้าทำได้ก็ พองครึ่ง หนอครึ่ง ถ้าเราพองเต็มที่แล้ว จะหนอได้อย่างไร พอจะหนอแล้วมันก็ยุบ ยุบ...ยังไม่ทันจะหนอ มันก็พองแล้ว นี่นะจึงไม่ได้ผลขอฝากไว้ นี่พูดให้ชัดเจนแล้ว

ใช้มือคลำแล้ว ไม่เห็นพองยุบ

ถ้านั่งไม่เห็น มือคลำไม่ได้ พองหนอ ยุนอนลงไปเลย นอนเหยียดยาว นอนหงายไปเลย เอามือประสานท้อง หายใจยาว ๆ แล้วว่าตามมือนี้ไป พองหนอ ยุบหนอ ให้คล่อง พอคล่องแล้ว ไปเดินจงกรม มานั่งใหม่ เดี๋ยวท่านจะชัดเจน นี่วิธีแก้ไข วิธีปฏิบัติให้ได้จังหวะ อย่างนี้เป็นต้น มีความหมายเหลือเกิน

เดี๋ยวพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวพุทโธ ทำอย่างไร

อาตมา...กว่าจะปฏิบัติพองยุบได้ก็ต้องฝึกอยู่นาน เพราะปฏิบัติพุทโธมาตั้ง ๑๐ ปี ธรรมกายสัก ๖ เดือน ทีนี้เราก็มาเลื่อนทำสติปัฏฐาน ๔ เดี๋ยวพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวพุทโธ อาตมาได้แก่ตัวเอง บางทีกำหนดได้ อ้าวมาอยู่ตรงนี้อีกแล้ว ทำมานาน ๑๐ ปี มันก็ฝังอยู่นาน แล้วก็ค่อย ๆ ไป
อาตมาว่าอย่างนี้แหละดี พองหนอยุบหนออย่างนี้แหละ แต่ก็อดไปติดที่พุทโธไม่ได้ เพราะเราทำพุทโธมาก่อน ๑๐ ปี ที่นี้หนักเข้าอารมณ์ก็ไปหลาย ๆ กระแส แต่พุทโธใช้สติปัฏฐาน ๔ ก็เหมือนกัน กำหนดมีกายเวทนา จิต ธรรม ก็ได้เหมือนกันนะ แต่ทำอารมณ์เดียวที่ท้องนี่ทำให้เราเห็นชัด พองหนอ ยุบหนอเป็นประการใด บางทีมันจะวูบไปตอนพองหรือตอนยุบนี่ก็จับได้ชัดดีกว่ากันเท่านั้นเอง

ง่วงนอน กำหนดที่ไหน

ถ้าท่านง่วงเหลือเกินกำหนดง่วงหนอ ๆ แต่ปาก หายง่วงไม่ได้ ทำอย่างไรล่ะ จะกำหนดได้ กำหนดอย่างไรจะไม่ง่วง เอาจิตกำหนดที่อุณาโลม (บริเวณหน้าผาก) ง่วงหนอ ๆๆๆ สำรวมจิตไว้ที่โหงวเฮ้ง รับรองหายง่วงทันที นี่วางจุดให้มันถูกเรื่องกันซิ ไม่ใช่กำหนดแต่ปาก แก้ไขปัญหาไม่ได้...เวลาง่วงอยากจะหลับ แต่จำเป็นจะต้องดูหนังสือต่ออีกสักหนึ่งชั่วโมง เอาจิตมาไว้ที่หน้าผาก กำหนดที่หน้าผากว่า ง่วงหนอ ๆๆๆ เดี๋ยวตาจะแข็ง สติดีขึ้น จะเขียนหนังสือได้เลย กำหนดให้ถูกที่ ทำความดีให้ถูกทาง

เกิดเวทนาต้องหยุดพองยุบ
เอาจิตปักไว้ตรงที่เกิดเวทนา และกำหนด

กำหนดเวทนา ถ้าหากว่าพองหนอ ยุบหนอแล้วเกิดเวทนาต้องหยุด พองยุบไม่เอา เอาจิตปักไว้ตรงที่เกิดเวทนา เอาสติตามไปดูซิว่ามันปวดแค่ไหน มันจะมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ปวดหนอแล้วหายเลย ไม่หาย มันยังไม่หาย มันยังไม่เป็นวิปัสสนา ยังเป็นสมถะ มันยังเป็นอุปาทาน ยึดเวทนาอยู่เหมือนท่านทั้งหลายเป็นไข้เอาจิตไปแตะที่ไข้ จิตท่านก็เป็นไข้ไปด้วย อย่างนี้แหละ ท่านทั้งหลายโปรดทราบ ยังแยกรูปแยกนามยังไม่ออก แยกเวทนาไม่ออกก็ต้องยึดอย่างนี้ก่อน
พอยึดปวดหนอ โอ้โฮยิ่งปวดหนัก ตายให้ตาย ปวดหนักทนไม่ไหวแล้ว จะแตกแล้ว ก้นนี่จะร้อนเป็นไฟแล้ว ทนไม่ไหวแล้วตายให้ตาย กำหนดไป กำหนดไป สมาธิดี สติดี เวทนาเกิดขึ้นดับไปซ่า! หายวับไปกับตา นี่แยกเวทนาได้ แยกรูปแยกนามได้ ใช้ได้ใหม่ ๆ ยังแยกไม่ออก ยังกอดกันอยู่ มันยังปวด ไม่รู้จักหาย
ขอให้ท่านอดทนฝึกฝนในอารมณ์นี้ให้ได้ เวลาเจ็บ ท่านจะได้เอาจิตแยกออกเสียจากป่วยจิตไม่ป่วยไม่เป็นไรนะ สำคัญจิตไปป่วยเสียด้วย เลยก็หมดทั้งกายทั้งใจ หมดอาลัยตายอยากอยู่ในจุดนี้ อันนี้เรื่องสำคัญมาก ต้องกำหนดอย่างนี้

นั่งแล้วผงก โงกไป โงกมา

บางคนนั่งผงกแล้วโงกไปโงกมา สมาธิดี ขาดสติ อะไรอย่างนี้ใช้ไม่ได้ นี่แหละสมาธิดี แต่สติใช้ไม่ได้ ไม่มีสติเลยนะ นั่งโงกไปโงกมา ก็กำหนดรู้หนอ ๆๆ โอ๊ย รู้แล้วไม่โงกเลย โยมทั้งหลายจะเห็นคนในรถยนต์ นั่งโงกไปโงกมา ถ้านั่งมีสติสัมปชัญญะดีจะไม่โงก จะหลับอย่างสบาย จะไม่ไหวติงในประการทั้งปวง นี่เห็นชัดขาดสติมากทำอย่างไรจะหายโงก ก็กำหนดเสีย โงกหนอหรือรู้หนอก็ได้ ถ้ามันไม่หาย กดจิตไว้ที่ใต้สะดือ ๒ นิ้ว นี่วิธีแล้ว กดลงไปลึก ๆ กำหนดรู้หนอ เดี๋ยวหายโงกทันที โงกงึมนี่หายเลย จับจุดได้ตรงนี้

วูบ ศีรษะโขกลงไป กระสับกระส่าย โยกคลอน

พองหนอ ยุบหนอ บางทีสมาธิดี เผลอ ขาดสติ มันจะวูบลงไป ศีรษะจะโขกลงไป และจะกระสับกระส่าย โยกคลอน โยกไปทางโน้น โยกไปทางนี้ เป็นเพราะสมาธิดี ขาดสติ สติไม่มี มันจึงวูบลงไป กำหนดไม่ทัน ไม่ทันปัจจุบัน
การกำหนดไม่ทัน วิธีแก้ทำอย่างไร กำหนดรู้หนอ รู้หนอ ถ้ามันงูบลงไป ต้องกำหนด ไม่อย่างนั้นนิสัยเคยชิน ทำให้พลาด ทำให้ประมาท เคยตัว ทุกอย่างต้องรู้ ทำอย่างไรจะรู้ได้ มันเป็นอดีตไปแล้ว มันล่วงเลยไปแล้ว ทำอย่างไรจะย้อนไปกำหนด ย้อนกำหนดไม่ได้หรอก จะบอกให้ ต้องรู้หนอ รู้หนอ รู้หนอ กำหนดรู้หนอ เอาจิตปักที่ลิ้นปี่ ถ้ากำหนดแต่ปากเฉย ๆ โยมไม่รู้จริง เป็นการรู้อย่างที่เขารู้กันทุกคน รู้ไม่พิเศษ รู้ไม่เป็นความจริง ถ้าปักให้ลึกถึงลิ้นปี่ รู้หนอ รู้หนอ โยมจะไม่พลาดอีกต่อไป ถึงวูบไปต้องจับได้ วูบลงไปตอนพองหรือยุบ เวลาวูบลงไป ต้องจับให้ได้นะ

ศีรษะก้มลงไปถึงพื้น

บางทีก็ศีรษะก้มตกได้นะ พองหนอ ยุบหนอ ก้มลงไปเรื่อย ๆ ศีรษะก้มลงไปถึงพื้นเลย ต้องแก้โดยตั้งตัวให้ตรง กำหนดรู้หนอ รู้หนอที่ลิ้นปี่ ถ้ายังไม่หาย กำหนดลงไปที่ใต้สะดือ รู้หนอ รู้หนอรับรองหายทันที

สั่นไม่หาย

มันผงกไม่หาย โงกหน้าโงกหลัง เดี๋ยวผงกตรงนั้น เดี๋ยวขนลุกขนพองสยองเกล้าไม่หายแก้อย่างไร ...กำหนดตัวตรง กำหนดรู้หนอ รู้หนอ เอาจิตปักไว้ใต้สะดือ ๒ นิ้ว ปักแล้วกดลึก ๆ รับรองหยุดทันที ไม่ใช่กำหนดที่ลิ้นปี่...ที่ว่าให้กดลงไปใต้สะดือ ๒ นิ้วนะ หมายความว่า ตัวสั่นขนพองสยองเกล้า ถ้ากำหนดที่ลิ้นปี่ไม่หาย ให้ถอนหายใจใหม่ พองหนอยุบหนอ มันยังสั่นอีก พอยกมือขึ้นพนมก็สั่น นี้เป็นปีติ มีสมาธิดีแต่ขาดสติ เกิดปีติอารมณ์ มันบางเหลือเกิน ใครกระทบอะไรไม่ได้ ขนหัวลุกเลย คนประเภทนี้ขาดสตินะ ไม่มีสติยึดครองในจิตใจเลย ใจก็หวั่นไหว ใครพูดอะไรก็เชื่อง่าย คนประเภทนี้โง่ คนขาดสติใจอ่อน ผีเข้าเจ้าสิงเก่ง ไม่ช้าผีก็เข้าทรงหรอก

จิตออกตอนไหน รู้ไหม

พองหนอ ยุบหนอ มันจะงูบ ชักเพลินละ ตอนที่เพลิน จะเกิดความเผลอ ที่จะเผลอเกิดจากอะไรผู้ปฏิบัติไม่รู้ เวลาจะเผลอ มันจะเพลินก่อน ทำเพลินให้จิตลืม คือหมดสติ มันลืม พอลืมแล้ว จะเผลอ วูบลงไปนี่มาจากไหน ผู้ปฏิบัติโปรดทราบ มาจากความเพลิน กำหนดเพลินหนอ
เพลินไป เพลินมา วูบไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่ทราบด้วยว่า วูบตอนพอง หรือ ตอนยุบ ถามแล้วตอบไม่ได้แม้แต่รายเดียว... จึงกำหนดแก้ว่า รู้หนอ รู้หนอ ห้ารู้ ยี่สิบรู้ กำหนดไป พอกำหนดตัวตรง รู้หนอ สติดีแล้ว ก็เตรียมท่าต่อไป กำหนดพองหนอยุบหนอต่อไป
พอกำหนดพองหนอ ยุบหนอต่อไปอีก มันชักเพลินอีกแล้ว หมายถึงสมาธิดีนะ กำหนดคล่องแคล่ว สมาธิดีแล้ว มันจะเพลิน กำหนดชักใจลอย จิตออกไปก็ไม่รู้ จิตออกไปไหนก็ไม่ทราบ เพราะขาดสติควบคุม ตรงนี้นักปฏิบัติต้องเป็นทุกคน ขอฝากไว้ จิตออกตอนไหน รู้ไหม ไม่ทราบค่ะทุกราย


ห้ามความคิดไม่ได้ เป็นธรรมชาติของจิต
ต้องคอยกำหนดซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่าท้อแท้

กำหนดพองหนอยุบหนอ จิตหนึ่งก็ไปคิดอะไรนานาประการ แต่ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ เป็นธรรมชาติของจิต ต้องคอยสำรวมต้องคอยกำหนดปัจจุบัน ถ้าโยมทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ สัก ๗ วันแล้วนั้น จะรู้เองว่าจิตมันละเอียด

กำหนดบ่อย ๆ จะรู้ว่าจิตออกไปตอนไหน

ถ้ากำหนดบ่อย ๆ ครั้งจะรู้ได้เองว่าจิตจะออกตอนไหน ไปคิดที่ไหนอย่างไร พอขยับตัวหน่อยเราก็กำหนดทันที รู้หนอ อ๋อ! รู้ตัวแล้ว จิตมันจะไม่ออกไป จะบอกเราในขณะพองหนอ ยุบหนอว่า อ๋อ! อารมณ์เสียแล้ว หมายความว่าเสียอารมณ์ที่เราไปคุยกัน จึงได้เน้นผู้ปฏิบัติอยู่ในห้องกรรมฐาน อย่าคุยกัน อยู่ตรงนี้นะ

คอยระวังมาก เพ่งมากก็ไม่ดีนะ ตึงไป

ต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบัน คอยระวังมาก กำหนดเพ่งมากก็ไม่ดีนะ ตึงไป แล้วจิตมันจะเครียด มันจะขึ้นสมอง มันจะปวดหัวพอปวดหัวแล้วแก้ยาก ต้องหายใจยาว ๆ แก้ปวดหัวคลายเครียดนะ ถ้าโยมเครียดเพราะทำงาน หรือปฏิบัติเครียด เกิดมึนศีรษะ เกิดปวดลูกตา โยมนั่งเฉย ๆ อย่าพองยุบแล้วก็หายใจยาว ๆ สักพักหนึ่งเดี๋ยวหายปวดศีรษะ หายปวดลูกตาทันที นี่มันเกิดจากเครียดนะ เกิดจากเกร็งด้วย ตัวกำหนด ทำให้เมื่อยปวดทั่วสกนธ์กายก็ได้ ทำให้ขาเกร็ง ทำให้แขนเกร็ง และมันจะขึ้นประสาท ทำให้มึนศีรษะและลงไปที่ปลายเท้า ทำให้ขาแขน ขาก้าวไม่ออก นี้เป็นลักษณะของกรรมฐานทั้งสิ้น

การหายใจเข้า-ออกยาวหรือสั้นนั้น ไม่สำคัญ
สำคัญที่กำหนดได้ปัจจุบันหรือไม่

การหายใจออกยาวหรือสั้นนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ข้อเดียวคือกำหนดได้ในปัจจุบัน คือ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดได้ หากเรากำหนดไม่ได้ เร็วไป ช้าไป กำหนดไม่ทันก็กำหนดใหม่ อันนี้ไม่ต้องคำนึงถึงว่าพองยาวหรือยุบยาว หรือยุบยาวไป พองสั้นไป อันนี้ไม่ต้องกำหนด เราเพียงแต่รู้ว่ากำหนดได้ในปัจจุบัน
หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ ก็กำหนดเรื่อย ๆ ไปอย่างนี้เท่านั้นก็ใช้ได้ ทีนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าพองยาวเท่านั้นยุบยาวเท่านั้นเท่านี้ แต่บางครั้งจะรู้เอง จะรู้ว่าพองมีกี่ระยะ...ยุบมีกี่ระยะ... บางครั้งมันจะเกิดมาเองว่าพองยาวยุบสั้น บางทีบางครั้งยุบยาวยุบลงไปลึก เดี๋ยวพองสั้นมันเกิดขึ้นเองนะ อันนี้มีข้อหมายอยู่อันหนึ่งว่า กำหนดให้ได้ในปัจจุบัน

พองยุบเลือนลาง แผ่วเบา ตื้อ ไม่พองไม่ยุบ

พองยุบ ตอนแรกก็ชัดดี พอเห็นหนักเข้าก็เลือนราง บางทีก็แผ่วเบา จนมองไม่เห็นพองยุบ ถ้ามันตื้อไม่พองไม่ยุบ ให้กำหนดรู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆ ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่ กำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวชัดเลย ถ้าหากว่าเรา พองหนอ ยุบหนอนี่ มันไม่ชัดแผ่วเบามาก เรายังกำหนดได้ก็กำหนดไป เอามือจับคลำดูก็ได้ว่ามันจะชัดไหม เดี๋ยวก็ชัดขึ้นมา ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ให้กำหนดตัวรู้เสีย รู้หนอ ๆ ตั้งสติไว้ แล้วกำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวชัด...

กำหนดพองหนอ ยุบหนอ จับให้ได้ว่ามันหายไปตอนไหน

พองหนอ ยุบหนอ บางครั้งตื้อ ไม่พองไม่ยุบเกิดขึ้นแล้วทำอย่างไร ปัญญาแก้อย่างไร ไม่พอง ไม่ยุบ และก็เราสังเกตได้ว่าสติดี จะรู้ว่ามันหายไปตอนพองหรือ ตอนยุบ พองหนอ ยุบหนอนี่ มันจะต้องกำหนดได้มีจังหวะ แต่มันหายไปตอนพองหรือตอนยุบ ปัญญาอยู่ตรงนั้น เราก็มีสติดี จะรู้ได้ว่ามันตื้อไม่ยุบไม่พองก็หายไป ตอนพองหรือตอนยุบ จะเห็นชัดแล้วเราก็กำหนดรู้หนอ ๆ แล้วการหายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ ให้ได้ที่ แล้วจึงใช้สติกำหนดต่อไปว่า พองหนอ ยุบหนอ ปัญญาเกิดสมาธิดี ก็ทำให้พองหนอ ยุบหนอสั้น ๆ ยาว ๆ แล้วทำให้แวบออกข้าง ๆ ทำให้จิตวนอยู่ในพองยุบ ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ถือว่าดีแล้ว มันเกิดภาวะเช่นนี้แล้ว ทำให้เรากำหนดต่อไป ขอให้จิตนี้วนอย่างนี้จริง ๆ

จิตคิด ฟุ้งซ่าน สับสนอลหม่าน มีประโยชน์

พองหนอยุบหนอเดี๋ยวขึ้นลง เดี๋ยวขึ้นลง ไม่ออกทางพอง ไม่ออกทางยุบ และจิตก็แวบออกไปแวบเข้ามา เดี๋ยวก็จิตคิดบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง สับสนอลหม่านกัน อย่างนี้ถือว่าได้ประโยชน์ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติอย่าทิ้ง ผู้ปฏิบัติจะต้องตามกำหนดต่อไปว่ามันฟุ้งซ่านจิตมันขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วพองหนอยุบหนอ กระสับกระส่ายแล้วพองหนอ ยุบหนอไม่ชัด ตอนนั้นได้ผลแล้วในเมื่อไม่ชัดก็ไม่เป็นไร ตื้อขึ้นมาไม่พองไม่ยุบ ตื้อขึ้นมาพองยุบบนลิ้นปี่ เดี๋ยวตื้อมาพองยุบที่หน้าอก แล้วเราก็กำหนดลงไปที่ท้องกำหนดรู้หนอ ๆๆ เสียก่อน แล้วก็หายใจเข้าออกต่อไปใหม่ นี่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

พองหนอ ยุบหนอแล้วเหนื่อย

พองหนอ พองสั้น พองยาว ยุบสั้น สั้นกำหนดได้ไหม กำหนดไม่ได้ เปลี่ยนแปลงใหม่ กำหนดได้ ทำไป ในเมื่อทำไปแล้วมันเหนื่อย พองหนอ ยุบหนอมันเหนื่อย กำหนดไม่ได้ทำอย่างไร ทำไมถึงเหนื่อย หายใจไม่เท่ากัน ลมหายใจไม่เท่ากัน มันเหนื่อยในเมื่อกำหนดไม่ได้ อย่างนี้แล้วเหนื่อยมาก จึงต้องค่อยๆ นอนลงไป วิธีแก้ เอามือประสานท้อง หายใจยาวๆ ไว้ก่อนให้ได้จังหวะ พอได้จังหวะดีหายใจได้ถูกที่ดีแล้ว ก็ค่อยๆ กำหนดไปเรื่อยๆ รับรองผู้ปฏิบัติได้รับผลแน่นอน

สมาธิมากกว่าสติ

การเจริญสติปัฏฐานสี่ทำให้จิตมีสติได้มาก ถ้าสมาธิมากกว่าสติ กำหนดพองหนอ ยุบหนอ จิตออกไปแล้ว พองหนอ ยุบหนอ มันจะเพลิน สติน้อยนี่จะเพลิน เพลินแล้วจะเผลอตัว เผลอแวบเดียวจิตออกไปคิดแล้ว จิตหนึ่งก็ยังอยู่ ผู้ปฏิบัติต้องสังเกตตรงนี้ ถ้าหากว่าเราสติดีครบวงจร จิตจะออก มันจะเพลินก่อน แวบไปแล้ว ถ้าขาดไม่ติดตามนะ ไม่กำหนดรู้หนอนะ รับรองจิตพองหนอ ยุบหนอ จิตหนึ่งคิด หลายอย่างรวมกันเลยในเวลาเดียวกัน สมาธิดี แต่สติไม่เกิด คิดตั้ง ๕-๖ อย่างรวมเป็นอันเดียว อย่างนี้ใช้ไม่ได้

อาการวูบ/ผงะ

บางครั้งนั่งมันวูบ วูบลงไปถึงกระดาน บางทีวูบผงะ วูบไปข้างหลัง วูบไปข้างหน้า บางทีวูบไปทางซ้าย บางทีวูบไปทางขวา บางทีพองหนอบางทียุบหนอ วูบไปแล้ว บางทีพองก็วูบไปแล้ว มันวูบหลายอย่าง ต้องใช้สติกำหนดรู้หนอ ๆ เพราะมันวูบลงไป
บางครั้งวูบมี ๒ อย่าง เกิดด้วยสมาธิสูงไป สติไม่พอ มันวูบลงไปโดยไม่ทันรู้ตัว เกิดตกใจอย่างหนึ่ง วูบอีกอย่างหนึ่งคือ วูบในการง่วง ถีนมิทธะเข้าครอบงำ ง่วงเหงาหาวนอนทำให้วูบหน้า วูบหลัง ผงกหน้าผงกหลัง เกิดขึ้นได้ในขณะที่นั่งภาวนาพองหนอยุบหนอ อย่างนี้ถือว่าถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอนมันเกิดขึ้นมิใช่เป็นตัวสมาธิ ถ้าเป็นตัวสมาธิแล้ว มันจะเกิดขึ้นโดยวูบอย่างแรงแต่ไม่ใช่ง่วง รู้ตัวตลอดเวลากาลอย่างนี้ สมาธิดีแต่สติน้อยไปทำให้วูบลงไปได้อย่างหนึ่งอย่างนี้

เกิดปีติ ขนลุกขนพอง

บางครั้งกำหนดไปกำหนดมาเกิดปีติ เกิดขนลุกขนพองสยองเกล้า กำหนดขนลุกเสีย กำหนดขนพองเสีย เกิดปีติแล้วต้องกำหนดเสียให้ได้ พอกำหนดได้แล้ว กลับมาพองหนอยุบหนอต่อไปใหม่ ปัญญาจะเกิดตอนนั้น

นั่งแล้วสบาย ไม่มีอะไรมารบกวน
จะไม่ได้อะไร ครูไม่มาสอนจะสอบตก

พองหนอ ยุบหนอ มีหลายร้อยแปดพันประการเรื่องในตัวเรา เดี๋ยวเรื่องนั้นโผล่ เดี๋ยวเรื่องนี้โผล่ ดูนะทำวันนี้อย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เปลี่ยนอีกแล้ว แล้วตอนเย็นวันนี้อีกเรื่องหนึ่ง กลางคืนดึก ๆ ตี ๔ ทำอีกซิ คนละเรื่องกัน มันไม่ใช่ซ้ำเรื่องเก่า แล้วบางทีเรื่องใหม่มาอีกแล้ว บางคนก็ฟุ้งซ่านเป็นกฎแห่งกรรมที่เราทำไว้ มันจะบอกได้เลยว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ฟุ้งซ่านไม่พัก
เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดฟุ้งซ่านนั้น โยมต้องเรียน เช่นนั่ง ยกตัวอย่าง ขณะนี้ ไม่มีเวลาเลย ไม่มีจิตออกเลย นั่งสบายไม่มีอะไรมารบกวนเลย โยม คิดว่าดีไหม? อาตมาจะตอบให้โยมฟัง แสดงว่าโยมไม่ได้อะไร ไม่ได้ศึกษาอะไร ครูไม่มาสอน เดี๋ยวถ้านั่งสักพัก ฟุ้งซ่าน ครูฟุ้งซ่านมาสอน ต้องกำหนด ต้องเรียน ว่าฟุ้งซ่านแบบไหน เป็นอย่างไรกำหนดไว้ จะรู้ได้เอง นั่นเป็นประสบการณ์ของชีวิต แล้วกำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวปวดเมื่อยเต็มที่ มันเป็นเวทนาอย่างซึ้งใจ ทนไม่ไหวเหมือนเข็มมาแทง ร้อนแทบจะทนไม่ไหว อย่างนี้เป็นต้น
ตายให้ตาย ต้องเรียนว่ามันเป็นอย่างไร การเรียนคือการฝึก เป็นการศึกษา ปัญหาชีวิตอยู่ตรงนี้ และเราก็ค่อยเรียนไป ตายให้ตาย โอ๊ย! ปวดเหลือเกิน ทำไมเขานั่งกันไม่ปวด เราปวดมาก ต้องศึกษาเรียกว่า ครูมาสอน เราก็ต้องเรียน อ้อ! เวทนาเป็นอย่างนี้แหละหนอ เกิดขึ้น แปรปรวน แล้วดับไป ไม่มีอะไรอยู่ในที่นั้น แล้วมันก็เคลื่อนย้าย โยกคลอน มันเป็นการสัมผัสปรุงแต่งในสังขาร มันก็ปวดเมื่อยเป็นธรรมดา แต่เราก็ต้องเรียน ต้องศึกษาว่ามันปวดขนาดไหน จะได้รู้ว่าปวดกี่เปอร์เซ็นต์ ในเมื่อเราเจ็บป่วยไข้ อ๋อ! เราผ่านแล้วเรื่องเล็กเหมือนเราสอบมัธยม ๓ ได้ เขาออกข้อสอบตามเดิมความรู้มัธยม ๓ เราเรียนจบแล้ว ก็รู้อย่างนั้นแหละ นี่จุดมุ่งหมายของการเรียนเวทนา เป็นการเรียนจบ บางคนพอปวดหนอหน่อยเลิกเลย! แสดงว่าเรียนไม่จบเพราะว่า เวทนาเกิดขึ้นเมื่อใด กำหนดไม่ได้ ก็แสดงว่า สอบตก
มีตัวอะไรไต่หน้า ตอมโน่นนี่ คันโน่นนี่ ต้องกำหนดให้รู้จริง

บางทีกำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวก็น้ำลายไหล เดี๋ยวก็น้ำมูกไหล บางคนรู้สึกว่ามีตัวอะไรไต่หน้าตอมโน่น ตอมนี่ คันโน่น คันนี่ ต้องรู้ ไม่ใช่คันจริง ไม่ใช่ตัวไรไต่ แต่มันเป็นเรื่องกิเลสต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น ในร่างกายสังขารและสัมผัส ก็กำหนดไป หนักเข้าตัวไรที่ตอมนั้นก็หายไปมันจะไม่กลับมาตอมอีก อย่างอื่นก็เกิดขึ้นแทน นี่กิเลสของเราทั้งนั้น และมันมีอยู่ในร่างกายสังขารทั้งหมด นี่เป็นการเรียนเป็นการศึกษา เป็นการหาความรู้ในตัวเอง


ที่มา :
http://www.rvpprinting.com/products/view.php?id=154

 

รูปภาพ
Top